โพสต์ล่าสุด

Wednesday, June 3, 2015

ประวัติหลวงปู่ทิม
หลวงปู่ทิม นามเดิมชื่อทิม นามสกุลงามศรี เกิดที่บ้านหัวทุ่งตาบุตร หมู่ที่ ๒ ตำบลละหารไร่ อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกันเป็นชายทั้ง ๓ คน ท่านเป็นคนที่ ๒ เกิดเมื่อ ปีมะแม วันศุกร์ เดือน ๗ ตรงกับวันที่ ๑๖ เดือน มิถุนายน ๒๔๒๒ เป็นบุตรของนายแจ้ นางอินทร์ งามศรี
หลวงปู่ทิมเป็นหลานของหลวงปู่สังข์ โดยมารดาของท่านเป็นน้องสาวหลวงปู่สังข์ หลวงปู่สังข์นี้เป็นพระปรมาจารย์ผู้เรืองวิชาอาคมอย่างยิ่งในสมัยนั้น หลวงปู่สังข์องค์นี้เป็นผู้ก่อตั้งวัดละหารไร่ขึ้น เป็นพระที่เรืองวิทยาอาคมมาก น้ำลายที่ท่านถมถ้าถูกพื้น ๆ จะแตก เมื่อทางจังหวัดทราบถึงความเก่งกล้าในวิทยาอาคมของท่าน จึงนิมนต์มาอยู่ที่วัดเก๋งจีน และได้สร้างพระเนื้อตะกั่ววัดเก๋งจีนขึ้น ก่อนที่จะไปอยู่วัดเก๋งจีนนั้น หลวงปู่สังข์ได้ทิ้งตำราและวิทยาการต่าง ๆ ไว้ที่วัดละหารไร่ทั้งหมด เพราะท่านไม่หวงแหนในวิชาของท่านแต่อย่างใด ท่านกล่าวว่า "ใครมีปัญญาก็ค้นคว้าเอาเอง" บรรดาตำราและวิทยาการต่าง ๆ หลวงปู่สังข์ได้ทิ้งไว้ที่วัดละหารไร่นี้เองที่หลวงปู่ทิมก็ได้ใช้ศึกษาในเวลาต่อมา

เมื่อท่านพระครูภาวนาภิรัติหรือหลวงพ่อทิม มีอายุเจริญวัยได้ ๑๗ ปี นายแจ้ผู้เป็นบิดาได้ส่งเสียและนำตัวของหลวงปู่ทิมไปฝากไว้กับท่านพ่อสิงห์ ที่วัดได้เล่าเรียนหนังสือกับท่านพ่อสิงห์พระอาจารย์เป็นเวลาประมาณ ๑ ปี และมีความสามารถเรียนรู้จนเข้าใจเขียนได้อ่านออกดีแล้ว นายแจ้ผู้เป็นบิดาของท่านจึงได้ไปกราบนมัสการท่านพ่อสิงห์ขอตัวหลวงปู่ทิมให้กลับมาอยู่ที่บ้านเช่นเดิมเพราะไม่มีคนช่วย หลวงปู่ทิมจึงได้ลาสิกขาออกมาช่วยพ่อแม่ทำงานและหาเลี้ยงพ่อแม่ตามวิสัยลูกที่ดี ผู้มีความกตัญญูกตเวที รู้จักปฏิบัติพ่อแม่มาด้วยดีตลอด

ในวัยหนุ่มของหลวงปู่ทิมนั้น ท่านเป็นคนคะนองเอาการอยู่ โดยท่านจะเป็นคนไปหาอาหารมาเลี้ยงครอบครัวด้วยการยิงนกตกปลาและออกเที่ยวล่าสัตว์ใหญ่ เพื่อนำไปขาย ซึ่งท่านทำไปด้วยความคึกคะนองประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งคือเพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัวของท่าน

จนเมื่อท่านอายุได้ ๑๙ ปี ท่านจึงถูกคัดเลือกเป็นทหารและได้เข้าประจำการที่กรุงเทพฯ เป็นเวลาถึง ๔ ปีเศษ จึงได้รับการปลดปล่อยกลับมาอยู่ที่บ้านตามเดิม และเมื่อกลับมาอยู่บ้านได้ไม่นาน บิดาของท่านจึงได้จัดการอุปสมบทให้เป็นพระภิกษุ 
อุปสมบท
หลวงปู่ทิมอุปสมบท เมื่อวันที่ ๗ เดือนมิถุนายน ๒๔๔๙ ตรงกับวันเสาร์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะแม โดยมีพระคุณเจ้าท่านพระครูขาว วัดทับมาเป็นพระอุปัชฌายะ พระอาจารย์เกตุ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์สิงห์ (พระอาจารย์ของท่าน ในขณะที่ท่านได้ศึกษาครั้งแรก) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ณ พัทธสีมา วัดละหารไร่ ได้ฉายาว่า อิสริโก เมื่อท่านบวชเป็นพระภิกษุแล้วท่านก็มาอยู่ที่วัดกับพระอาจารย์สิงห์ได้ ๑ พรรษา ขณะที่ท่านอยู่กับพระอาจารย์สิงห์นั้น ท่านได้ค้นคว้าและศึกษาตำราของหลวงปู่สังข์ทีท่านได้ทิ้งไว้ให้ตามตู้พระไตรปิฎกอย่างตั้งใจ เพราะท่านมีความสนใจในทางปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง
หลวงปู่ทิม อิสริโก นับว่าเป็นพระอาจารย์ที่แปลกกว่าพระอื่น ๆ ในรุ่นเดียวกัน คือ ท่านต้องการฝึกฝนตนเองด้วยการออกไปหาประสบการณ์ด้วยการออกเดินธุดงค์ ซึ่งพระในรุ่นเดียวกันไม่มีใครคิดที่จะออกไปแสวงหาความวิเวกตามป่าเขาลำเนาไพรอย่างท่าน เพราะต้องการศึกษาในทางพระปริยัติธรรมเท่านั้น
เมื่ออยู่ครบพรรษาแล้วท่านก็ได้ขออนุญาตและมนัสการกราบลาอาจารย์ออกธุดงค์ไปหลายจังหวัดเป็นเวลา 3 ปี จากนั้นท่านก็มาพิจารณาว่า ท่านก็ได้ใช้เวลานานพอสมควรแล้ว จึงควรเดินทางกลับมาพักเสียที เมื่อคิดดังนั้น ท่านก็เดินทางกลับมาจังหวัดชลบุรีและท่านก็ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดนามะตูมเป็นเวลา 2 พรรษา ระหว่างนั้นท่านก็ได้เที่ยวร่ำเรียนวิชากับเกจิอาจารย์หลายอาจารย์ด้วยกันรวมทั้งฆราวาส โยมเริ่ม โยมรอด และโยมสาย นอกจากนั้นยังศึกษาตำราซึ่งตกทอดมาจากหลวงปู่สังข์เฒ่า เจ้าอาวาสวัดเก๋งจีนซึ่งเป็นลุงแท้ๆ ของหลวงปู่ทิม เป็นเวลา 2 ปี เศษ และต่อมาท่านจึงกลับมาอยู่ที่วัดละหารไร่หรือ (วัดไร่วารี) ตามเดิมและท่านได้เรียนทางวิปัสสนากรรมฐานกับอาจารย์และอื่น ๆ อีกหลายอาจารย์ด้วยกัน
วัดละหารไร่ เดิมชื่อวัดไร่วารี เพราะมีน้ำอยู่ล้อมรอบ และเป็นที่กันดารมาก ถ้าใครได้หลงเข้าไป เป็นได้หลงป่าไปเลย ซึ่งแม้แต่หลวงปู่เองท่านยังต้องบุกป่าฝ่าดงเข้าไปอยู่ ในสมัยนั้นทางรถก็ยังไม่มี จะมีก็แต่ทางเดินแคบ ๆ เท่านั้น หลวงปู่ท่านจึงต้องพัฒนากันใหญ่ ด้วยความร่วมมือจากญาติโยมในท้องถิ่นนั้น คือได้มีชาวบ้านศรัทธาท่านมากถึงกับบวชเพื่อติดตามปรนนิบัติท่านถึง ๓ คน คือ นายทัต นายเปี่ยม และ นายแหยม ซึ่งทั้ง ๓ คนนี้มีความสนใจในวิชาทางศาสนาเป็นอย่างมาก
เมื่อหลวงปู่ทิมมาอยู่วัดละหารไร่แล้ว ต่อมาคณะสงฆ์ได้มอบหมายให้ท่านเป็น พระอธิการทิม อิสริโก เจ้าอาวาสวัดละหารไร่ ท่านได้ก่อสร้างเสนาสนะ บูรณะซ่อมแซมกุฏิ และอื่น ๆ อีกหลายอย่างพร้อมด้วยญาติโยมทั้งหลายก็มีความเลื่อมใสต่อท่านมาก เพราะท่านเป็นพระที่เคร่งในธรรมะและวินัยเป็นที่น่าเคารพมาก ต่อมาท่านจึงชักชวนบ้านและญาติโยมทั้งหลายได้ก่อสร้างพระอุโบสถขึ้น 1 หลัง ประมาณ 1 ปีเศษ ก็แล้วเสร็จและผูกพัทธสีมาเรียบร้อยในระยะเวลาเพียง 1 ปีเศษเท่านั้น และในปี พ.ศ. ๒๔๘๓  หลวงพ่อทิมได้จัดให้มีการเปิดโรงเรียนขึ้นอย่างเป็นทางการ เพื่อสอนกุลบุตรกุลธิดาของประชาชน โดยใช้ศาลาการเปรียญเป็นสถานที่สอน ต่อมาชาวบ้านเห็นดีด้วยกับการศึกษาจึงร่วมมือกับหลวงพ่อสร้างอาคารเรียนขึ้น ๑ หลัง ตามแบบ ป.๑ ข. โดยใช้เวลาการก่อสร้างเพียง 8 เดือนก็แล้วเสร็จเรียบร้อย ซึ่งปัจจุบันอาคารหลังนี้ชำรุดทรุดโทรมและรื้อถอนไปไม่ได้ใช้แล้ว  ต่อมาท่านก็ชักชวนชาวบ้านช่วยกันพัฒนาก่อสร้างสะพานข้ามคลองอีกหลายแห่ง สร้างหอฉันและศาลาการเปรียญสำเร็จ ด้วยเงินกว่า ๔ ล้านกว่า งานของท่านก็ได้บรรลุถึงความสำเร็จโดยเรียบร้อยทุกประการ
ด้วยผลงานดังกล่าว ในปี ๒๔๗๘ ท่านก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูชั้นประทวน ต่อมาในปี ๒๔๙๗ ทางคณะสงฆ์ได้แต่งตั้งให้ท่านเป็นพระครูชั้นสัญญาบัตร และในปี ๒๕๐๗ ท่านได้รับสมณศักดิ์เป็น พระครูภาวนาภิรัติ
ในครั้งแรกท่านไม่ใยดีกับยศตำแหน่งที่ทางการคณะสงฆ์ได้มอบให้ และถูกทางคณะสงฆ์เร่งรัดให้ท่านเดินทางไปรับพัดยศที่จังหวัด ซึ่งท่านก็ไม่ไปรับ จนกระทั่งชาวบ้านรู้ข่าว จำต้องพร้อมในกันจัดขบวนแห่ไปรับพัดยศและตราตั้งมาถวายให้กับท่านถึงวัด ท่านจึงต้องจำยอมรับอย่างเสียมิได้ โดยมีนายสาย แก้วสว่าง ในฐานะเป็นไวยาวัจกรและศิษย์ผู้ใกล้ชิด เป็นผู้นำคณะชาวบ้านไปรับพัดยศมาถวาย

หลวงปู่เป็นพระที่น่าเคารพและบูชาเป็นอย่างยิ่ง ท่านเป็นพระที่ยึดมั่นในพระธรรมและวินัยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นพระมักน้อย สันโดษ ไม่ยินดียินร้ายในรูป เสียง กลิ่น รส ท่านฉันเช้าประมาณ ๗ โมงเช้าและน้ำชาก็เวลา ๔ โมงเย็น ถ้าเลยเวลาหลวงปู่ไม่ยอมฉันแม้แต่น้ำชา ท่านฉันข้าวมื้อเดียวมาประมาณ ๔๗ ปี และ เนื้อ หมู เป็ด ไก่ หรืออาหารคาวทุกชนิด ท่านไม่ยอมฉัน มา ๔๗ ปีแล้ว แม้แต่น้ำปลาก็ไม่ฉัน อาหารที่ท่านฉันเป็น ผัก ถั่ว หรือเส้นแกงร้อน น้ำพริกกับเกลือป่นอย่างนี้อยู่เป็นนิจตลอดมา
มรณภาพ
ในราตรีของวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2518 เวลา 23.35 น. กฎธรรมชาติอันเป็นสัจจะ คือ ชีวิต และ สังขารของสรรพสัตว์ที่อุบัติขึ้นในโลก ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือเดรัจฉาน เมื่อถึงกาลสิ้นอายุขัยแล้ว ชีวิตก็จะดับสังขารก็ผุพังมลายไปนั้น ได้ทำให้ชาวพุทธทั้งหลาย ต้องสูญเสียพระเถระผู้ทรงคุณอันประเสริฐไปอีกท่านหนึ่ง นั่นคือ พระคุณเจ้าพระครูภาวนาภิรัต (หลวงปู่ทิม) เจ้าอาวาสวัดไร่วารี จังหวัดระยอง เมื่อมีอายุได้ 96 ปีบริบูรณ์ ย่าง 97 ได้ 4 เดือน
ที่พระคุณเจ้าท่านนี้ เป็นพระเถระผู้ทรงคุณอันประเสริฐ นั้นก็เพราะพระคุณเจ้าท่าน เมื่อสละเพศฆราวาสมาครองสมณเพศ (ขึ้นต้นด้วยบรรพชาเป็นสามเณรก่อน เมื่ออายุครบ จึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์) ท่านมีปฏิปทา เหมาะสมเป็นพระสาวกของสมเด็จพระพุทธองค์อย่างแท้จริง ขึ้นต้นด้วยยึดมั่นต่อพระธรรมวินัยของพระองค์อย่างเคร่งครัด ฉันภัตตาหารเพียงมื้อเดียว ภัตตาหารที่ฉันก็เป็นพืชผักและผลไม้ ปราศจากเนื้อสัตว์ชนิดใดทั้งสิ้น เพราะท่านไม่ต้องการเบียดเบียนทั้งมนุษย์ด้วยกัน ตลอดจนสัตว์เดรัจฉานที่เนื้อของมันเป็นอาหารของมนุษย์ โดยธรรมชาติกำหนด ซึ่งพระภิกษุส่วนมากก็ฉันกันโดยเต็มอกเต็มใจ และเอร็ดอร่อยในเนื้อสัตว์บางชนิดเป็นพิเศษ นอกจากท่านจะไม่เบียดเบียนแล้ว ในจิตสำนึกของท่านยังเปี่ยมด้วยความเมตตากรุณาต่อทั้งมนุษย์และสัตว์เดรัจฉาน
เมื่อท่านมุ่งหน้าสู่ร่มเงา ของพระบวรพุทธศาสนาด้วยความเลื่อมใสศรัทธาอย่างสูงสุด ไม่ใช่มุ่งไปสู่โดยมุ่งหมาย เอาวัดเป็นที่อยู่ อาศัย และ อาหารที่ชาวพุทธมีจิตศรัทธาต่อผู้ห่มครองกาสาวพัสตร์ถวายเป็นสิ่งยังชีพ ฉะนั้นท่านจึงตั้งอกตั้งใจศึกษา พระธรรม ของสมเด็จพระพุทธองค์ กระทั่งซึ้งและแตกฉาน การศึกษานี้เรียกว่า คันถธุระ และ ทางวิปัสสนากรรมฐาน ท่านก็พากเพียรฝึกฝนจนกระทั่งบรรลุญานชั้นสูง มีอินทรีย์ทางญาณแก่กล้า มีทิพจักขุและทิพโสด และ สามารถล่วงรู้ถึงวาระกำหนดที่ดวงวิญญาณของท่าน จะต้องสละร่างที่เสมือนเรือนที่ผุพังใช้เป็นที่อยู่อาศัยอีกต่อไปไม่ได้ล่วงหน้า และเมื่อถึงวาระนั้นแล้ว ก็สามารถถอดวิญญาณออกจากร่างได้ ซึ่งเป็นการตายของอริยบุคคล อันผิดจากการตายของบุคคลสามัญธรรมดาทั่วไป ซึ่งการตายของบุคคลสามัญนั้นหัวใจหยุดเต้น ด้วยความล้าถึงที่สุดแล้ววิญญาณจึงออกจากร่าง เรียกว่า “สิ้นใจ” ในระหว่างที่หัวใจค่อย ๆ ล้าลงจนถึงที่สุดนั้น ส่วนมากเจ้าของร่างจะไม่มีสติ พูดจาอะไรไม่มีใครรู้เรื่อง เสียงที่หลุดออกมาจากริมฝีปากแผ่วเบาแสนเบา ส่วนการตายโดยการถอดวิญญาณของท่านอริยบุคคล (ซึ่งส่วนมากอยู่ในสมณเพศ) นั้น หัวใจจะหยุดเต้นเมื่อถอดวิญญาณออกจากร่างแล้ว และก่อนที่วิญญาณจะออกจากร่างไปนั้น สติจะมีอยู่อย่างสมบูรณ์พูดจาสั่งเสียอะไรได้เหมือนกับว่าจะยังไม่ตาย
การถอดวิญญาณออกจากร่างของอริยบุคคล นอกจากไปเลยพราะร่างทรุดโทรมเพราะความชราหรือถูกโรคร้ายคุกคาม ไม่อาจรักษาเยี่ยวยาเหมือนบ้านเรือนที่ผุพังแล้วซ่อมใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้อีก อันหมายถึงวาระสิ้นอายุขัยนั้นแล้วยังสามารถถอดออกไปให้ผู้คนเห็นกันในที่ไกลแสนไกลด้วยกายทิพย์ละกายเนื้อไว้ที่เดิม แล้วจึงกลับมาอย่างเช่น พระคุณเจ้า ธมฺมวิตกฺโก ได้ถอดวิญญาณออกจากร่างอันเป็นกายเนื้อของท่าน ไปปรากฏร่างด้วยกายทิพช่วยบำบัดทุกข์จากโรคภัยไข้เจ็บให้กับฝรั่งคนหนึ่งที่สหรัฐอเมริกา โดยที่ฝรั่งนายนั้นได้ทำบุญกุศลร่วมกับท่านมาแต่ชาติปางก่อน ซึ่งเรื่องนี้ พ.ต.อ. ชะลอ อุทกภาชน์ ผู้ศึกษาเกี่ยวกับวิญญาณ ได้เขียนลงในหนังสือพิมพ์ และ นายฝรั่งผู้นั้นได้ติดต่อมา สืบหาพระคุณเจ้าธมฺมวิตกฺโก เมื่อพระคุณเจ้าพระครูธรรมวัฒน์สุนทร ผู้ใกล้ชิดพระคุณเจ้าธมฺวิตกฺโก ได้ไต่ถามพระคุณเจ้า ไม่ตอบรับและก็ไม่ปฏิเสธ ทั้งนี้เพราะใช่ วิสัยพระอริยสงฆ์ จะโอ่อวดและกล่าวเท็จ จึงตอบด้วยหัวเราะอยู่ในลำคอ เป็นการตัดบท
จากการไปจากโลกนี้ของพระคุณเจ้าพระครูภาวนาภิรัต-หลวงปู่ทิม โดยการถอดวิญญาณไปทิ้งกายเนื้อที่ทรุดโทรมด้วยความชราภาพไว้ ข้าพเจ้าไม่ได้ทึกทักพูดเอาเอง ข้าพเจ้าพูด จากการบอกของท่านที่ได้บอกแก่บรรดาศิษย์ที่เฝ้าอาการอาพาธของท่านที่โรงพยาบาล ว่า ท่านขอกลับวัด เพื่อทำพิธีถอดวิญญาณ เพราะท่านจะอยู่ต่อไปอีกไม่ได้แล้ว เพราะท่านได้ขอผัดผ่อนต่อเบื้องบนมาสามครั้งสามคราวแล้ว
ข้าพเจ้าไม่มีโอกาสได้ไปใกล้ชิดท่าน จึงได้แต่ถามข่าวคราวของท่านจากคุณชินพร และวิเคราะห์ตามวิชาการที่ได้ศึกษา ข้าพเจ้าก็เข้าใจแจ่มแจ้ง ซึ่งขอนำมาบอกเล่าในโอกาส ส่วนท่านจะไม่เชื่อและเห็นว่าข้าพเจ้าเพ้อเจ้อ ก็สุดแต่อัธยาศัยของท่าน
ความจริง อายุขัยของท่านครบกำหนดที่จะต้องจากโลกมนุษย์ไปแล้วตั้งต่อายุของท่านได้ 92 ปี แต่ด้วยอานิสงส์อันเป็นกุศลเจตนาที่ท่านตั้งปณิธานขอสร้างสิ่งซึ่งจะเป็นศรีสง่าให้แก่วัดไร่วารี ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นวัดที่ตั้งอยู่ในป่าที่ท่านได้จำพรรษาในฐานะเจ้าอาวาสมาตั้งแต่หนุ่มจนสู่วัยชรา นั่นคือ “ศาลาการเปรียญ” อันโอ่อ่ามูลค่าก่อสร้างถึงสองล้านห้าแสน บาท แต่ท่านก็ต้องรอเรื่อยมาจนอายุล่วง 90 เพราะขาดปัจจัยที่จะใช้ในการก่อสร้าง ท่านจึงต้องขอต่อเบื้องบนซึ่งเป็นผู้กำหนดอายุขัย ของสรรพสัตว์ให้มีชีวิตยืนยาวจนกว่าจะสร้างเสร็จ ซึ่งท่านก็ต้องผัดผ่อนถึง 3 คราว ทั้งนี้เพราะทิพญาณช่วยให้ท่านรู้ว่าจะต้องมีผู้มาช่วยให้ท่านได้ปัจจัยมาก่อสร้างอย่างแน่นอน ซึ่งก็เป็นจริง เมื่อคุณประชา ตรีพาสัย ผู้เป็นชาวจังหวัดระยอง แต่ตอนนั้นเป็นข้าราชการกรมชลประทานได้พาคุณชินพร สุขสถิตย์ ไปนมัสการท่าน พอได้เห็นท่าน คุณชินพรก็บังเกิดความเลื่อมใส ศรัทธาท่านอย่างสูงสุด และท่านเองก็บังเกิดความปิติ กล่าวออกมาว่า “ผู้ที่จะช่วยให้อาตมาสมปณิธานมาแล้ว”
หลังจากนั้นคุณชินพรก็ได้ลงทุนสร้างพระกริ่งและพระไชยวัฒน์ถวายนามว่า “ชินบัญชร” และ เหรียญรูปเหมือนของท่านขึ้นก่อนเป็นประเดิม มอบให้ท่านประจุพระพุทธานุภาพ อิทธิ อภินิหารแล้วนำออกสมนาคุณแก่ผู้บริจาคปัจจัยเพื่อก่อสร้าง ศาลาการเปรียญ ตามปณิธานของท่าน และก็ด้วยบารมีของท่าน วัตถุมงคลนั้นได้รับความศรัทธาจากชาวพุทธทั้งหลาย ยังผงให้หมดไปในเวลาเพียงไม่ถึง 2 เดือน การก่อสร้างศาลาการเปรียญตามปณิธานของท่านจึงเริ่มขึ้น ซึ่งบัดนี้ก็ได้เสร็จแล้ว
วัตถุมงคลที่สร้างขึ้นนั้น ผู้ที่บูชาเช่าไปต่างก็เทิดทูน หวงแหน เพราะมีอิทธิอภินิหารจริง ๆโดยเฉพาะ พระกริ่ง นั้นได้มีผู้ทดลองอาราธนาฟาดสายรุ้ง ปรากฏว่า สายรุ้งขาดเป็นท่อน ๆ อย่างน่าอัศจรรย์
ว่าถึงอิทธิอภินิหารของพระอริยสงฆ์ท่านนี้ อันแสดงว่าท่านบรรลุญาณขั้นสูง มีอีกอย่างตามที่ข้าพเจ้าได้รับบอกเล่า อันเป็นที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง นั่นคือในขณะที่จังหวัดระยองประสบอุทกภัย บริเวณวัดไร่วารีน้ำท่วมเพียงเอว ตอนสาย ๆ วันหนึ่ง พระคุณเจ้าเดินออกมาจากในกุฏิ ถือผ้ายันต์ของท่านมาด้วยผืนหนึ่ง ยืนบริกรรมที่หน้ากุฏิแล้วเหวี่ยงผ้ายันต์นั้นลงไปในน้ำ และหน้าอัศจรรย์ที่ผ้ายันต์ผืนนั้นคลี่ออกลอยบนผิวน้ำอย่างดิบดี และลอยลิ่วไปตามกระแสน้ำ หายลับตาไปสักครู่ใหญ่ ๆ ก็มีปรากฏการณ์ที่น่าอัศจรรย์ยิ่งขึ้นไปอีก โดยผ้ายันต์ผืนนั้นลอยทวนกระแสน้ำกลับมาหาท่าน และไม่กลับมาแต่ผ้ายันต์ซึ่งควรจะชุ่มน้ำจมหายไปอย่างเดียว ซ้ำบนผ้ายันต์ ยังมีลูกไก่ตัวเล็ก ๆ ตัวหนึ่งอยู่บนนั้น ซึ่งท่านนำขึ้นมาเลี้ยงไว้บนกุฏิ
ถึงแม้สังขารของท่านจะอยู่ในสภาพชรา แต่ตามปรกติก็เป็นสังขารชราที่มีสุขภาพดี ไม่มีหลงลืมเลอะเลือน พูดจาป้ำเป๋ออย่างที่ควรจะเป็น แต่เมื่อศาลาการเปรียญสร้างเสร็จ ท่านก็อาพาธด้วยไข้หวัด ขั้นแรกก็มีอาการเล็กน้อย แต่มีที่น่าสะดุดก็ตรงที่ท่านไม่ยอมฉันภัตตาหาร ซึ่งตามปรกติเป็นอาหารเจและฉันมื้อเดียว ในที่สุดก็เห็นกันว่าท่านมีอาการหนัก อาการบอกว่าท่านจะไปละ บรรดาลูกศิษย์ลูกหาจึงนำท่านไปรับการรักษาพยาบาลที่ ร.พ. ศรีราชา ทั้งที่ท่านไม่เต็มใจ
ในระหว่างที่ท่านอยู่ในโรงพยาบาล มดหมอจะทำอย่างไรกับสังขารของท่าน ท่านปล่อยให้ทำไปตามใจ ท่านหลับตาเข้าสมาธิ ไม่สนใจมีความรู้สึกต่อการกระทำของมดหมออย่างที่สังขารของท่านไร้วิญญาณ ภัตตาหารก็ไม่ยอมฉัน ต่อเมื่อหมอวางมือแล้วท่านจึงลืมตา พูดจากับลูกศิษย์ ลูกหาที่ไปเฝ้าดูอาการท่านอยู่
ครั้งถึงวันที่ 14 ตุลาคม 2518 ท่านจึงขอให้นำสังขารของท่านกลับวัด และบอกว่าจะทำพิธีถอดดวงวิญญาณ จึงพาท่านกลับ แต่ลูกศิษย์ก็ไม่ยอมให้ท่านถอดดวงวิญญาณทั้งที่ท่านบอกให้รู้กันล่วงหน้าแล้วว่า “ศาลาการเปรียญสร้างเสร็จ ก็จะหลับไม่ตื่น” ในที่สุดถึงวันที่ 16 ตุลาคม ในตอนกลางคืน ท่านขอธูปมาจุด บูชาสมเด็จพระบรมศาสดา เสร็จแล้วไต่ถามสั่งเสีย ลูกศิษย์ลูกหาที่เฝ้าอยู่แล้วท่านก็หลับตาเข้าสมาธิ เวลาประมาณ 23.35 น.วิญญาณของท่านก็สละสังขาร – สละชนิดที่ไม่กลับคืนมาอีก เพราะถึงกำหนดที่ท่านขอผัดผ่อนแล้ว
การจุดธูปบูชาพระบรมศาสดาพระพุทธเจ้า แล้วเข้าสมาธิ นี่แหละเป็นกรรมวิธีในการถอดวิญญาณของพระอริยสงฆ์และอริยบุคคล ขอให้ท่านศึกษาเถิด แล้วท่านจะรู้ว่า ข้าพเจ้ามิได้เพ้อเจ้อ

ลักษณะอีกอย่างหนึ่ง ที่บอกถึงว่าพระคุณเจ้า หลวงปู่ทิมได้จากไปโดยการถอดวิญญาณ นั่นคือ สังขารที่ท่านทิ้งไว้ มีหน้าตาสดใสผิวพรรณเปล่งปลั่ง มีประกายยิ้มอย่างไร้กังวล อย่างที่ท่านหลับอย่างสุขขารมณ์





No comments:

Post a Comment